เกี่ยวกับเรา

March 3, 2018 ผู้ดูแลระบบฐานข้อมูลและเว็บไซต์ ประชาสัมพันธ์

         หน่วยข้อมูลยาและสุขภาพ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ตระหนักถึงความสำคัญของการมีฐานข้อมูลในการพิสูจน์เอกลักษณ์ยาโดยเฉพาะยาที่ผลิตและจำหน่ายในประเทศ จึงได้จัดทำงานวิจัยที่รวมรวมข้อมูลได้แก่ ชื่อการค้า ชื่อสามัญทางยา รูปแบบผลิตภัณฑ์ รูปร่างลักษณะ สัญลักษณ์หรือตัวอักษรบนยาเม็ดหรือแคปซูล สี ขนาดของยาเม็ดและแคปซูล บริษัทผู้ผลิต และบริษัทผู้จำหน่ายโดยเริ่มจากการจัดทำฐานข้อมูลการพิสูจน์เอกลักษณ์ของยาเม็ดและแคปซูลก่อน เนื่องจากยารูปแบบดังกล่าวมีสถิติจำนวนการขึ้นทะเบียนตำรับยาสูง

จากข้อมูลของกองควบคุม สถิติจำนวนการขึ้นทะเบียนตำรับยา แบ่งตามหมวดยา ปี 2542 พบว่า ยาเม็ดมีการขึ้นทะเบียนตำรับยาสูงสุดถึงร้อยละ 43 ของทั้งหมด ส่วนอันดับถัดมาเป็นยาน้ำ ยาปราศจากเชื้อและแคปซูลซึ่งมีการขึ้นทะเบียนตำรับยา ร้อยละ 14 ร้อยละ 13  และ ร้อยละ12 ตามลำดับ (กองควบคุมยา สำนักงานอาหารและยา, 2542) จากข้อมูลนี้แสดงให้เห็นว่ายาเม็ดถูกขอขึ้นทะเบียนมากที่สุดและมีการใช้สูงสุด ทั้งนี้เป็นผลมาจากความสะดวกทั้งในแง่การผลิต การบริหารยาและการจัดเก็บ นอกจากนี้ยังสามารถพิมพ์อักษรหรือทำสัญลักษณ์ที่แสดงถึงบริษัทผู้ผลิต ความแรงหรือชนิดยาไว้บนเม็ดยาได้ง่ายอีกด้วย อย่างไรก็ตามการจำแนกชนิดเม็ดยายังคงกระทำได้ยาก  เนื่องจากยาเม็ดหรือแคปซูลบางหลายชนิดมีความใกล้เคียงกันมาก ดังนั้นถ้าไม่มีฉลากระบุชื่อยาแล้ว เภสัชกรหรือผู้เชี่ยวชาญจะต้องอาศัยประสบการณ์และความสามารถในการจดจำในการพิสูจน์เอกลักษณ์ยาเม็ดและยาแคปซูลเพื่อระบุว่ายาดังกล่าวเป็นยาตัวใดและอาจส่งผลทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนในการใช้ยาได้ง่าย

จุดเริ่มต้นของงานวิจัยเพื่อพัฒนาฐานข้อมูลการพิสูจน์เอกลักษณ์ยาเม็ดและยาแคปซูลในประเทศไทยขึ้นโดยได้มีการดำเนินงานวิจัยเป็นระยะต่าง ๆ ดังนี้

–                   งานวิจัยในระยะที่ 1 (2552) จัดทำโดย นศ.ภ. วริศรา ผาสุกมูล, นศ.ภ. ธวัชชัย ธูปอ่อน, นศ.ภ. คะนึงนิตย์  ยศคำลือ และนศ.ภ. สุรศักดิ์ คณานันท์  เพื่อพัฒนาฐานข้อมูลการพิสูจน์เอกลักษณ์ยาเม็ดและยาแคปซูลในประเทศไทย ซึ่งผู้ใช้สามารถพิสูจน์เอกลักษณ์ยา โดยค้นจากลักษณะต่างๆ เช่น ชื่อการค้า ชื่อสามัญทางยา รูปร่างลักษณะ สี ข้อความตัวพิมพ์บนเม็ดยา  มีฐานข้อมูลยารวม  514 รายการ

–                   งานวิจัยในระยะที่ 2 (2553) จัดทำโดย นศ.ภ. มะลิวัลย์ วงษ์อนัน, นศ.ภ. สมคิด บุตรชาติ และ นศ.ภ. ทิพาพร   สืบสารคาม ได้จัดทำขึ้นเพื่อพัฒนาฐานข้อมูลโดยมีการตรวจสอบและปรับปรุงข้อมูลเดิมให้เป็นปัจจุบันและมีความถูกต้องมากขึ้น  และมีการเพิ่มจำนวนรายการยาให้มากขึ้น มีรายการยาเม็ดและยาแคปซูลรวม 1,200 รายการ

เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 ฐานข้อมูลพิสูจน์เอกลักษณ์ยาเม็ดและยาแคปซูลในประเทศไทย และคู่มือการใช้งานฐานข้อมูลการพิสูจน์เอกลักษณ์ยาเม็ดและยาแคปซูลในประเทศไทย ที่พัฒนาขึ้นนี้ ได้รับการจดลิขสิทธิ์ประเภทงานวรรณกรรม ลักษณะงานโปรแกรมคอมพิวเตอร์และหนังสือ โดยมี ดร.จินตนา นภาพร และ ผศ.ธีราพร ชนะกิจ เป็นเจ้าของผลงาน (ข้อมูลลิขสิทธิ์ เลขที่ 266187 และ 266175 ตามลำดับ)

–                   งานวิจัยในระยะที่ 3 (2554) จัดทำโดย นศ.ภ. กัญญานันท์ ประเสริฐสาร, นศ.ภ. พจนีย์  สกุลไทย  และ นศ.ภ. อังคณา วงศ์แสนสี ได้จัดทำขึ้นเพื่อพัฒนาฐานข้อมูลโดยมีการตรวจสอบและปรับปรุงข้อมูลเดิมให้เป็นปัจจุบันและมีความถูกต้องมากขึ้น  และมีการเพิ่มจำนวนรายการยาให้มากขึ้น มีรายการยารวม 1,880 รายการ

–                  งานวิจัยในระยะที่ 4 (2555) ดำเนินการโดย นศ.ภ.มาริตา คำพาวงศ์, นศ.ภ.เรวดี จวงจันดี และ นศ.ภ.วชิราภรณ์ รังวัดสา โดยในระยะนี้ คณะผู้วิจัยได้มีแนวคิดที่จะพัฒนาฐานข้อมูลเดิมที่อยู่ในรูปแบบ stand alone ให้อยู่ในรูปแบบเว็บไซต์เพื่อให้เข้าถึงง่าย เป็นประโยชน์ต่อบุคลากรที่ให้บริการด้านสุขภาพ และสำหรับประชาชนทั่วไปในวงกว้างมากขึ้น โดยทำการเก็บรวบรวมข้อมูลที่ประกอบด้วย ชื่อการค้า ชื่อสามัญทางยา รูปแบบผลิตภัณฑ์ รูปร่างลักษณะ สัญลักษณ์หรือตัวอักษรบนยาเม็ดหรือแคปซูล สี ขนาดของยาเม็ดและยาแคปซูล บริษัทผู้ผลิต และบริษัทผู้จำหน่าย จากการพัฒนารูปแบบฐานข้อมูลดังกล่าวจึงเกิดเป็น www.phar.ubu.ac.th/drugiden เพื่อพิสูจน์เอกลักษณ์ยาเม็ดและยาแคปซูลที่มีจำหน่ายในประเทศไทยขึ้น

–                  งานวิจัยในระยะที่ 5 (2556) ดำเนินการโดย นศ.ภ. พิชชาภรณ์ บัวแก้ว และ นศ.ภ.ภัทรวรรธน์ สุขสาครธนาวัฒน์ ในระยะนี้ การพัฒนาเว็บไซต์ฐานข้อมูลการพิสูจน์เอกลักษณ์ยาเม็ดและยาแคปซูลในประเทศไทยของหน่วยข้อมูลยาและสุขภาพ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เกิดเป็นโครงการความร่วมมือเพื่อพัฒนาเว็บไซต์การพิสูจน์เอกลักษณ์ยาเม็ดและยาแคปซูลในประเทศไทยระหว่าง สำนักยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยข้อมูลยาและสุขภาพ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดยได้รับความอนุเคราะห์ข้อมูลจากฐานข้อมูลการขึ้นทะเบียนตำรับของยาเม็ด ยาแคปซูลที่ใช้สำหรับมนุษย์ และยาเม็ด ยาแคปซูลที่ใช้สำหรับสัตว์ รวมทั้งสิ้น 15,005 ตำรับ ในการผนวกเข้ากับเว็บไซต์ฐานข้อมูลการพิสูจน์เอกลักษณ์ยาเม็ดและแคปซูลในระยะที่ผ่านมา และยังได้รับความอนุเคราะห์จากบริษัท โรงงานที่มีการผลิตยาเม็ดและยาแคปซูลในการส่งตัวอย่างเม็ดยาเพื่อถ่ายภาพบันทึกลงในฐานข้อมูลเพิ่มเติมจากเดิมกว่า 1,500 รายการ ทำให้มีจำนวนรายการยาที่ภาพประกอบมากถึง 2,854 รายการ และได้เริ่มเปิดให้ให้บุคลากรทางการแพทย์ และผู้สนใจสามารถเข้าใช้งาน www.phar.ubu.ac.th/drugiden เพื่อพิสูจน์เอกลักษณ์ยาเม็ดและยาแคปซูลที่มีจำหน่ายในประเทศไทย ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2557 เป็นต้นมา

เว๊บไซต์ฐานข้อมูลการพิสูจน์เอกลักษณ์ยาเม็ดและยาแคปซูลที่มีจำหน่ายในประเทศไทย (www.phar.ubu.ac.th/drugiden) ของคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็นฐานข้อมูลเดียวที่มีอยู่ในปัจจุบัน ที่ผู้ใช้สามารถสืบค้นข้อมูลยาได้ด้วยตนเอง มีระดับการสืบค้นทั้งอย่างง่าย (General search) และ การสืบค้นที่มีข้อมูลเฉพาะ (Advance search) ที่มีความครอบคลุมรูปแบบการค้นหา มีจำนวนรายการที่ปรากฏมากถึง 3,000 รายการ และไม่มีค่าใช้จ่ายในการเข้าใช้งาน และ มีสถิติที่น่าสนใจดังนี้

  1. เป็นฐานข้อมูลอันดับ 1 บน Google ที่มีอัตราการสืบค้นสูงสูดเกี่ยวกับ การพิสูจน์เอกลักษณ์เม็ดยา หรือ Drug identification ติดต่อกันมาตั้งแต่ปี 2558
  2. มีจำนวน subscriber มากกว่า 2,000 คน มีจำนวน user มากกว่า 25,000 คน
  3. มีอัตรา page view ประมาณ 500,000 ครั้ง/ปี คิดเป็นการเข้าใช้เฉลี่ยมากกว่า 1,000 ครั้ง/วัน และการเข้าใช้ มีการกระจายตัวไปในหลายประเทศ ทั้งเอเชีย ยุโรป และอเมริกา

นอกจากนั้นยังพบว่า การเข้าใช้งานฐานข้อมูลส่วนใหญ่ เข้าใช้ทาง mobile devices จึงเป็นที่มาของการพัฒนาฐานข้อมูลพิสูจน์เอกลักษณ์ยาเม็ดและยาแคปซูลที่มีจำหน่ายในประเทศไทยให้อยู่ในรูปแบบแอปพลิเคชัน (Application) เพื่อให้สะดวกและเหมาะสมต่อวิถีชีวิตของคนในปัจจุบัน

  • งานวิจัยในระยะที่ 6 (2560) ดำเนินการโดย นศ.ภ.วัฒนชัย บุญสาร และ นศ.ภ.สกลรัตน์ วงศ์เรือง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อออกแบบและพัฒนา Application พิสูจน์เอกลักษณ์ยาเม็ดและยาแคปซูลที่มีจำหน่ายในประเทศไทยที่อ้างอิงบนเว็บไซต์เดิม เพื่อเพิ่มความสะดวกและเหมาะสมต่อรูปแบบและวิธีการค้นหาข้อมูลในปัจจุบัน ทั้งยังดำเนินการตรวจสอบและปรับปรุงฐานข้อมูลเดิมให้ถูกต้องและเป็นปัจจุบัน รวบรวมข้อมูลจากเอกสารอ้างอิงพื้นฐานทางเภสัชศาสตร์ เพิ่มข้อมูลรายการยาให้มีจำนวนมากขึ้น รวมทั้งสิ้นเป็นจำนวน 18,159 รายการ และจำนวนยาที่มีรูปในฐานข้อมูลรวมเป็น 2,859 รายการ ทั้งยังเพิ่มข้อมูลข้อบ่งใช้ตามจากบัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ. 2560 อีกด้วย

 ผู้รับผิดชอบโครงการ

 

  1. ดร.จินตนา นภาพร
  2. ดร.ณรงค์ชัย จักษุพา
  3. อ.ภญ.ศิศิรา ดอนสมัคร
  4. ผศ.ธีราพร ชนะกิจ
  5. ดร.ฐิติเดช ลือตระกูล
  6. นายนรเศรษฐ์ ทองคำ
  7. นายปิยวิทย์ คำสุข

หน่วยข้อมูลยาและสุขภาพ และ งานคอมพิวเตอร์และสารสรเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อพัฒนาเว็บไซต์การพิสูจน์เอกลักษณ์ยาเม็ดและยาแคปซูลในประเทศไทย
  2. เพื่อพัฒนาระบบที่ช่วยในการตรวจสอบข้อมูลและเอกลักษณ์เม็ดยาเพื่อการขึ้นทะเบียนตำรับ
  3. เพื่อเป็นฐานข้อมูลที่เข้าถึงง่ายและมีความเป็นกลางทางวิชาการ สำหรับบุคลากรที่ให้บริการด้านสุขภาพและประชาชนทั่วไปในการค้นหาหรือพิสูจน์เอกลักษณ์เม็ดยา
  4. เพื่อให้เป็นเครื่องมือในการเฝ้าระวังปัญหาที่เกิดจากการได้รับยาปลอมหรือยาที่ถูกเพิกถอนทะเบียน

 

8 Responses to “เกี่ยวกับเรา”

  • จิตลักษณ์ says:

    ขอบคุณคณะผู้จัดทำทุกคน ที่ตั้งใจทำการค้นเม็ดยาขึ้นมานะคะ เป็นประโยชน์มากเลยค่ะ
    แต่อยากให้พัฒนาการค้นหายาให้ง่ายขึ้นน่ะค่ะ ดูจากของ medscape เป็นตัวอย่างก็ได้ค่ะ
    http://reference.medscape.com/pill-identifier
    หรือ จะลองสอบถามไปยัง medscape เพื่อขอซื้อ code เฉพาะหัวข้อนี้มั้ยคะ

    ของเดิม เวลาจะ iden เม็ดยา แล้วต้องการ criteria อื่นด้วย ไม่สามารถทำได้เลยค่ะ ทำให้ค้นหายายาก โดยเฉพาะเม็ดยาสีขาว ซึ่งมีเยอะมากเลยค่ะ

    ขอบคุณค่ะ

  • ภก.วิรุณ เวชศิริ says:

    เรียนสอบถามคณะผู้จัดทำฐานข้อมูลครับ

    ผมช่วยประสานงานให้นักศึกษากลุ่มนึง จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์คณะวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ ซึ่งเค้าสนใจจัดทำ application สำหรับวงการยาครับ

    ผมได้เสนอพวกเค้าว่า หากสามารถนำชุดฐานข้อมูลนี้มาเชื่อมต่อกับระบบ image recognition น่าจะสามารถทำให้ผู้ใช้สามารถถ่ายรูปแล้วตรวจสอบชนิดของเม็ดยาได้เลย จึงอยากขอประสานงานและสอบถามความเป็นไปได้ครับ อยากขอเบอร์ติดต่อผู้ประสานงาน จะได้คุยกันในรายละเอียดครับ

    ขอบคุณมากครับ

    ภก.วิรุณ เวชศิริ

  • tananatt says:

    register แต่ไม่ได้รับอีเมล์อะไรเลย ต้องแก้ไขอย่างไร

    • ผู้ดูแลระบบฐานข้อมูลและเว็บไซต์ says:

      อาจจะอยู่ในถังขยะครับ ถ้าใช้ hotmail ลองเปลี่ยนเป็นใช้ email ตัวอื่นเช่น gmail เป็นต้น

  • ployrak says:

    เว็บนี้มี่ประดยชน์มากค่ะกับเภสัชกรโรงพยาบาล

  • ศ. นพ.ชัยรัตน์ ฉายากุล says:

    อยากติดต่อด้วยเรื่องประสานนำข้อมูลที่มีประโยชน์ในเว็บนี้ เชื่อมโยงกับ application เรื่องยาของ เครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (UHosNet) ครับ

  • ภก ชัยสิทธิ์ ฤทธิทิศ says:

    ถ้าเป็นไปได้อาจจะให้นักศึกษาเภสัชช่วยหาข้อมูลเพื่อให้ได้ข้อมูลมากที่สุด ถ้านักศึกษา 1คนหาข้อมูลยา1ตัว ปีละ1ครั้งเชื่อว่าคงได้ข้อมูลครบถ้วนครับ และจะมีประโยชน์ต่อเภสัชกรและบุคลากรทางการแพทย์เป็นอย่างมาก

  • Rowan Irwin says:

    Change to English plz


Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Robert Games theme design by robertgames.com | Powered by WordPress