หากต้องการเข้าถึงข้อมูล ควรทำการลงชื่อก่อน Login
ค้นด้วยชื่อ
ค้นตามลักษณะที่ปรากฎ
เกี่ยวกับเรา
หน่วยข้อมูลยาและสุขภาพ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ตระหนักถึงความสำคัญของการมีฐานข้อมูลในการพิสูจน์เอกลักษณ์ยาโดยเฉพาะยาที่ผลิตและจำหน่ายในประเทศ จึงได้จัดทำงานวิจัยที่รวมรวมข้อมูลได้แก่ ชื่อการค้า ชื่อสามัญทางยา รูปแบบผลิตภัณฑ์ รูปร่างลักษณะ สัญลักษณ์หรือตัวอักษรบนยาเม็ดหรือแคปซูล สี ขนาดของยาเม็ดและแคปซูล บริษัทผู้ผลิต และบริษัทผู้จำหน่ายโดยเริ่มจากการจัดทำฐานข้อมูลการพิสูจน์เอกลักษณ์ของยาเม็ดและแคปซูลก่อน เนื่องจากยารูปแบบดังกล่าวมีสถิติจำนวนการขึ้นทะเบียนตำรับยาสูง
จากข้อมูลของกองควบคุม สถิติจำนวนการขึ้นทะเบียนตำรับยา แบ่งตามหมวดยา ปี 2542 พบว่า ยาเม็ดมีการขึ้นทะเบียนตำรับยาสูงสุดถึงร้อยละ 43 ของทั้งหมด ส่วนอันดับถัดมาเป็นยาน้ำ ยาปราศจากเชื้อและแคปซูลซึ่งมีการขึ้นทะเบียนตำรับยา ร้อยละ 14 ร้อยละ 13 และ ร้อยละ12 ตามลำดับ (กองควบคุมยา สำนักงานอาหารและยา, 2542) จากข้อมูลนี้แสดงให้เห็นว่ายาเม็ดถูกขอขึ้นทะเบียนมากที่สุดและมีการใช้สูงสุด ทั้งนี้เป็นผลมาจากความสะดวกทั้งในแง่การผลิต การบริหารยาและการจัดเก็บ นอกจากนี้ยังสามารถพิมพ์อักษรหรือทำสัญลักษณ์ที่แสดงถึงบริษัทผู้ผลิต ความแรงหรือชนิดยาไว้บนเม็ดยาได้ง่ายอีกด้วย อย่างไรก็ตามการจำแนกชนิดเม็ดยายังคงกระทำได้ยาก เนื่องจากยาเม็ดหรือแคปซูลบางหลายชนิดมีความใกล้เคียงกันมาก ดังนั้นถ้าไม่มีฉลากระบุชื่อยาแล้ว เภสัชกรหรือผู้เชี่ยวชาญจะต้องอาศัยประสบการณ์และความสามารถในการจดจำในการพิสูจน์เอกลักษณ์ยาเม็ดและยาแคปซูลเพื่อระบุว่ายาดังกล่าวเป็นยาตัวใดและอาจส่งผลทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนในการใช้ยาได้ง่าย
จุดเริ่มต้นของงานวิจัยเพื่อพัฒนาฐานข้อมูลการพิสูจน์เอกลักษณ์ยาเม็ดและยาแคปซูลในประเทศไทยขึ้นโดยได้มีการดำเนินงานวิจัยเป็นระยะต่าง ๆ ดังนี้
– งานวิจัยในระยะที่ 1 (2552) จัดทำโดย นศ.ภ. วริศรา ผาสุกมูล, นศ.ภ. ธวัชชัย ธูปอ่อน, นศ.ภ. คะนึงนิตย์ ยศคำลือ และนศ.ภ. สุรศักดิ์ คณานันท์ เพื่อพัฒนาฐานข้อมูลการพิสูจน์เอกลักษณ์ยาเม็ดและยาแคปซูลในประเทศไทย ซึ่งผู้ใช้สามารถพิสูจน์เอกลักษณ์ยา โดยค้นจากลักษณะต่างๆ เช่น ชื่อการค้า ชื่อสามัญทางยา รูปร่างลักษณะ สี ข้อความตัวพิมพ์บนเม็ดยา มีฐานข้อมูลยารวม 514 รายการ
– งานวิจัยในระยะที่ 2 (2553) จัดทำโดย นศ.ภ. มะลิวัลย์ วงษ์อนัน, นศ.ภ. สมคิด บุตรชาติ และ นศ.ภ. ทิพาพร สืบสารคาม ได้จัดทำขึ้นเพื่อพัฒนาฐานข้อมูลโดยมีการตรวจสอบและปรับปรุงข้อมูลเดิมให้เป็นปัจจุบันและมีความถูกต้องมากขึ้น และมีการเพิ่มจำนวนรายการยาให้มากขึ้น มีรายการยาเม็ดและยาแคปซูลรวม 1,200 รายการ
เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 ฐานข้อมูลพิสูจน์เอกลักษณ์ยาเม็ดและยาแคปซูลในประเทศไทย และคู่มือการใช้งานฐานข้อมูลการพิสูจน์เอกลักษณ์ยาเม็ดและยาแคปซูลในประเทศไทย ที่พัฒนาขึ้นนี้ ได้รับการจดลิขสิทธิ์ประเภทงานวรรณกรรม ลักษณะงานโปรแกรมคอมพิวเตอร์และหนังสือ โดยมี ดร.จินตนา นภาพร และ ผศ.ธีราพร ชนะกิจ เป็นเจ้าของผลงาน (ข้อมูลลิขสิทธิ์ เลขที่ 266187 และ 266175 ตามลำดับ)
– งานวิจัยในระยะที่ 3 (2554) จัดทำโดย นศ.ภ. กัญญานันท์ ประเสริฐสาร, นศ.ภ. พจนีย์ สกุลไทย และ นศ.ภ. อังคณา วงศ์แสนสี ได้จัดทำขึ้นเพื่อพัฒนาฐานข้อมูลโดยมีการตรวจสอบและปรับปรุงข้อมูลเดิมให้เป็นปัจจุบันและมีความถูกต้องมากขึ้น และมีการเพิ่มจำนวนรายการยาให้มากขึ้น มีรายการยารวม 1,880 รายการ
– งานวิจัยในระยะที่ 4 (2555) ดำเนินการโดย นศ.ภ.มาริตา คำพาวงศ์, นศ.ภ.เรวดี จวงจันดี และ นศ.ภ.วชิราภรณ์ รังวัดสา โดยในระยะนี้ คณะผู้วิจัยได้มีแนวคิดที่จะพัฒนาฐานข้อมูลเดิมที่อยู่ในรูปแบบ stand alone ให้อยู่ในรูปแบบเว็บไซต์เพื่อให้เข้าถึงง่าย เป็นประโยชน์ต่อบุคลากรที่ให้บริการด้านสุขภาพ และสำหรับประชาชนทั่วไปในวงกว้างมากขึ้น โดยทำการเก็บรวบรวมข้อมูลที่ประกอบด้วย ชื่อการค้า ชื่อสามัญทางยา รูปแบบผลิตภัณฑ์ รูปร่างลักษณะ สัญลักษณ์หรือตัวอักษรบนยาเม็ดหรือแคปซูล สี ขนาดของยาเม็ดและยาแคปซูล บริษัทผู้ผลิต และบริษัทผู้จำหน่าย จากการพัฒนารูปแบบฐานข้อมูลดังกล่าวจึงเกิดเป็น www.phar.ubu.ac.th/drugiden เพื่อพิสูจน์เอกลักษณ์ยาเม็ดและยาแคปซูลที่มีจำหน่ายในประเทศไทยขึ้น
– งานวิจัยในระยะที่ 5 (2556) ดำเนินการโดย นศ.ภ. พิชชาภรณ์ บัวแก้ว และ นศ.ภ.ภัทรวรรธน์ สุขสาครธนาวัฒน์ ในระยะนี้ การพัฒนาเว็บไซต์ฐานข้อมูลการพิสูจน์เอกลักษณ์ยาเม็ดและยาแคปซูลในประเทศไทยของหน่วยข้อมูลยาและสุขภาพ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เกิดเป็นโครงการความร่วมมือเพื่อพัฒนาเว็บไซต์การพิสูจน์เอกลักษณ์ยาเม็ดและยาแคปซูลในประเทศไทยระหว่าง สำนักยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยข้อมูลยาและสุขภาพ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดยได้รับความอนุเคราะห์ข้อมูลจากฐานข้อมูลการขึ้นทะเบียนตำรับของยาเม็ด ยาแคปซูลที่ใช้สำหรับมนุษย์ และยาเม็ด ยาแคปซูลที่ใช้สำหรับสัตว์ รวมทั้งสิ้น 15,005 ตำรับ ในการผนวกเข้ากับเว็บไซต์ฐานข้อมูลการพิสูจน์เอกลักษณ์ยาเม็ดและแคปซูลในระยะที่ผ่านมา และยังได้รับความอนุเคราะห์จากบริษัท โรงงานที่มีการผลิตยาเม็ดและยาแคปซูลในการส่งตัวอย่างเม็ดยาเพื่อถ่ายภาพบันทึกลงในฐานข้อมูลเพิ่มเติมจากเดิมกว่า 1,500 รายการ ทำให้มีจำนวนรายการยาที่ภาพประกอบมากถึง 2,854 รายการ และได้เริ่มเปิดให้ให้บุคลากรทางการแพทย์ และผู้สนใจสามารถเข้าใช้งาน www.phar.ubu.ac.th/drugiden เพื่อพิสูจน์เอกลักษณ์ยาเม็ดและยาแคปซูลที่มีจำหน่ายในประเทศไทย ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2557 เป็นต้นมา
เว๊บไซต์ฐานข้อมูลการพิสูจน์เอกลักษณ์ยาเม็ดและยาแคปซูลที่มีจำหน่ายในประเทศไทย (www.phar.ubu.ac.th/drugiden) ของคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็นฐานข้อมูลเดียวที่มีอยู่ในปัจจุบัน ที่ผู้ใช้สามารถสืบค้นข้อมูลยาได้ด้วยตนเอง มีระดับการสืบค้นทั้งอย่างง่าย (General search) และ การสืบค้นที่มีข้อมูลเฉพาะ (Advance search) ที่มีความครอบคลุมรูปแบบการค้นหา มีจำนวนรายการที่ปรากฏมากถึง 3,000 รายการ และไม่มีค่าใช้จ่ายในการเข้าใช้งาน และ มีสถิติที่น่าสนใจดังนี้
- เป็นฐานข้อมูลอันดับ 1 บน Google ที่มีอัตราการสืบค้นสูงสูดเกี่ยวกับ การพิสูจน์เอกลักษณ์เม็ดยา หรือ Drug identification ติดต่อกันมาตั้งแต่ปี 2558
- มีจำนวน subscriber มากกว่า 2,000 คน มีจำนวน user มากกว่า 25,000 คน
- มีอัตรา page view ประมาณ 500,000 ครั้ง/ปี คิดเป็นการเข้าใช้เฉลี่ยมากกว่า 1,000 ครั้ง/วัน และการเข้าใช้ มีการกระจายตัวไปในหลายประเทศ ทั้งเอเชีย ยุโรป และอเมริกา
นอกจากนั้นยังพบว่า การเข้าใช้งานฐานข้อมูลส่วนใหญ่ เข้าใช้ทาง mobile devices จึงเป็นที่มาของการพัฒนาฐานข้อมูลพิสูจน์เอกลักษณ์ยาเม็ดและยาแคปซูลที่มีจำหน่ายในประเทศไทยให้อยู่ในรูปแบบแอปพลิเคชัน (Application) เพื่อให้สะดวกและเหมาะสมต่อวิถีชีวิตของคนในปัจจุบัน
- งานวิจัยในระยะที่ 6 (2560) ดำเนินการโดย นศ.ภ.วัฒนชัย บุญสาร และ นศ.ภ.สกลรัตน์ วงศ์เรือง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อออกแบบและพัฒนา Application พิสูจน์เอกลักษณ์ยาเม็ดและยาแคปซูลที่มีจำหน่ายในประเทศไทยที่อ้างอิงบนเว็บไซต์เดิม เพื่อเพิ่มความสะดวกและเหมาะสมต่อรูปแบบและวิธีการค้นหาข้อมูลในปัจจุบัน ทั้งยังดำเนินการตรวจสอบและปรับปรุงฐานข้อมูลเดิมให้ถูกต้องและเป็นปัจจุบัน รวบรวมข้อมูลจากเอกสารอ้างอิงพื้นฐานทางเภสัชศาสตร์ เพิ่มข้อมูลรายการยาให้มีจำนวนมากขึ้น รวมทั้งสิ้นเป็นจำนวน 18,159 รายการ และจำนวนยาที่มีรูปในฐานข้อมูลรวมเป็น 2,859 รายการ ทั้งยังเพิ่มข้อมูลข้อบ่งใช้ตามจากบัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ. 2560 อีกด้วย
ผู้รับผิดชอบโครงการ
- ดร.จินตนา นภาพร
- ดร.ณรงค์ชัย จักษุพา
- อ.ภญ.ศิศิรา ดอนสมัคร
- ผศ.ธีราพร ชนะกิจ
- ดร.ฐิติเดช ลือตระกูล
- นายนรเศรษฐ์ ทองคำ
- นายปิยวิทย์ คำสุข
หน่วยข้อมูลยาและสุขภาพ และ งานคอมพิวเตอร์และสารสรเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
วัตถุประสงค์
- เพื่อพัฒนาเว็บไซต์การพิสูจน์เอกลักษณ์ยาเม็ดและยาแคปซูลในประเทศไทย
- เพื่อพัฒนาระบบที่ช่วยในการตรวจสอบข้อมูลและเอกลักษณ์เม็ดยาเพื่อการขึ้นทะเบียนตำรับ
- เพื่อเป็นฐานข้อมูลที่เข้าถึงง่ายและมีความเป็นกลางทางวิชาการ สำหรับบุคลากรที่ให้บริการด้านสุขภาพและประชาชนทั่วไปในการค้นหาหรือพิสูจน์เอกลักษณ์เม็ดยา
- เพื่อให้เป็นเครื่องมือในการเฝ้าระวังปัญหาที่เกิดจากการได้รับยาปลอมหรือยาที่ถูกเพิกถอนทะเบียน